Google Ads เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสามารถช่วยให้ธุรกิจโปรโมตตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างเรียกได้ว่าครอบจักรวาล เพราะ Google ถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่ลูกค้าใช้มากที่สุดบนอินเตอร์เน็ต และลูกค้าสามารถสร้างแคมเปญโฆษณาได้หลากหลายรูปแบบตามงบประมาณที่ตั้งไว้
หลายธุรกิจอาจคิดว่าการทำ Google Ads ไม่ซับซ้อนและสามารถทำเองได้ แต่นั่นนับว่าถูกเพียงครึ่งเดียวเพราะแต่สิ่งสำคัญนอกจากการเลือกประเภทของแคมเปญโฆษณา Google Ads ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจและรันโฆษณาแล้ว ธุรกิจมักลืมส่วน Technical ซึ่งเกี่ยวกับการวัดผลคู่กับเว็บไซต์ของคุณหรือ conversion tracking เพื่อให้แคมเปญบน Google ของคุณได้ปรับจูนตัวเองเข้าหาเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญและวัดผลได้เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ใช่รันแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่วัดผลเลย ซึ่งการทำ Google Ads อย่างถูกวิธีจะสามารถวัดผลได้ทั้งหมดว่าโฆษณาที่รันอยู่ ได้เปลี่ยนเป็นการขายของกี่ออร์เดอร์ การส่งฟอร์มติดต่อ การ Add Line กี่ครั้ง ฯลฯ ได้ตามที่ธุรกิจให้ความสำคัญ
สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ยังไม่คุ้นเคยกับ Google Ads นัก วันนี้ทาง Convert Digital นำบทความเกี่ยวกับประเภทของ Google Ads และวิธีการเลือกใช้มาฝาก รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้ว จะเข้าใจการเลือกประเภทของ Google Ads ได้มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ประเภทของ Google Ads
1. Search Campaign
มาเริ่มกันที่ Search Campaign ซึ่งเป็นโฆษณาของ Google Ads ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี คำจำกัดความอย่างง่ายก็คือ “เมื่อลูกค้า search keyword เกี่ยวกับธุรกิจคุณบน Google เว็บไซต์ของคุณก็จะขึ้นมาแสดงในหน้าแรก (อันดับที่ #1-4)”
โฆษณาประเภท Search Campaign จะแสดงขึ้นมาเป็นตัวหนังสือในพร้อมลิงก์ไปยังเว็บไซต์ เมื่อมีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของธุรกิจนั้น ๆ ที่ใกล้เคียงกับ Keywords ที่เรากำหนดไว้ โฆษณาของเราก็จะขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่ 1-4 หรือตำแหน่งด้านล่างของหน้าแรกบน Google ทั้งนี้ จะมีบ้างในบางช่วงเวลาที่ตัวโฆษณาอาจจะไม่แสดงผลถึงแม้ว่าจะค้นหาด้วย Keyword ที่เรากำหนดไว้ก็ตาม สาเหตุเพราะงบประมาณที่เราตั้งไว้ต่อวันถูกใช้จนหมดแล้วหรืองบประมาณของเราไม่มากพอที่จะครอบคลุมการแสดงผลตลอดเวลาได้
Search Campaign เหมาะสำหรับใคร? แคมเปญลักษณะนี้นับเป็นสิ่งที่จำเป็น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้าและเพิ่มการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ เพราะการที่ผู้ใช้พิมพ์ค้นหาบางอย่างบน Google เกี่ยวกับธุรกิจคุณนั้นแสดงว่าพวกเขากำลังต้องการอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นข้อมูล สินค้า หรือบริการ ดังนั้นเมื่อธุรกิจของคุณมี demand เราก็สามารถโชว์เว็บไซต์ของธุรกิจเราเพื่อตอบสนอง demand เหล่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือก Keywords ได้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าคิดหรือไม่ และที่สำคัญ ถึงแม้ว่าเราเลือก Keywords ได้ตรงแล้ว การเขียน Ad ที่น่าดึงดูด กระชับ ชัดเจนรวมถึงเนื้อหาบนเว็บไซต์ของเราที่ลูกค้าคลิกเข้าไปอ่านต่อนั้นสามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้ากำลังค้นหาอยู่ได้ดีเพียงใด หากตอบโจทย์ได้ดี ใช้งานง่าย มีประสบการณ์บนหน้าเว็บไซต์ที่รวดเร็วและสะดวก ย่อมจะส่งผลดีต่อยอดขายและธุรกิจของคุณ
2. Display Campaign
Google Ads ประเภทที่สอง คือ Display Campaign สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นประเภทของโฆษณาที่จะช่วยให้คุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนกว้างขึ้นด้วยโฆษณาที่จะเริ่มเน้น “รูปภาพและวีดีโอ” ประกอบกับคำบรรยายสั้น ๆ ซึ่งทำให้ Ad ของคุณมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยโฆษณาดังกล่าวจะปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์พันธมิตรของ Google ต่าง ๆ (ซึ่งกว้างขวางมากกว่า 90% ของอินเตอร์เน็ต) แอปพลิเคชันที่ลูกค้าเข้าชม ไปจนถึงแพลตฟอร์มที่ Google เป็นเจ้าของ เช่น YouTube หรือ Gmail การโฆษณาแบบนี้จะทำให้ธุรกิจเป็นที่น่าจดจำได้มากกว่าการโฆษณาโดยใช้เพียงแค่ตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่ระบบการล็อคเป้าหมายต่างกันกับแคมเปญประเภท Search โดย Display Campaign นั้นจะเลือกลักษณะ Demographics และ Interest ของคนที่คุณต้องการเลือกได้ ในขณะที่ Search นั้นใช้ keyword เป็นหลัก ธุรกิจจึงควรทำแคมเปญทั้งสองประเภทควบคู่กันไปเพราะจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันนั่นเอง
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่ม Brand Awareness หรือการทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเข้าถึงคนให้มากขึ้น และถ้ามีการติดตั้ง Conversion Tracking ได้อย่างสมบูรณ์ ธุรกิจก็สามารถใช้ Display Campaign ในการหาเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญ ไปจนถึงการเร่งยอดขาย การหาลูกค้าใหม่ ๆ ที่ติดต่อธุรกิจคุณได้ถูกกว่าแคมเปญแบบ Search อีกด้วยในบางครั้ง
3. Video Campaign
ใช่แล้วนอกจากรูปภาพ เรายังสามารถโฆษณาด้วยวิดีโอได้ผ่าน YouTube ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มในเครือข่ายของ Google Ads โดยโฆษณาประเภทนี้จะเป็นการแสดงในรูปแบบวิดีโอความยาว 6 หรือ 15 วินาที โดยแสดงก่อนหรือในระหว่างเนื้อหาบน YouTube และเว็บไซต์พาร์ทเนอร์ที่ลูกค้ารับชม จะกดข้ามได้หรือข้ามไม่ได้ก็แล้วแต่ที่ลูกค้าจะเลือกใช้
รูปแบบของ Video Campaign แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
- โฆษณาในสตรีม (แบบกดข้ามได้): ลูกค้าสามารถเลือกกดข้ามโฆษณาได้เมื่อผ่านไป 5 วินาที เราจะเสียเงินก็ต่อเมื่อผู้ชมวิดีโอดูเป็นเวลา 30 วินาทีหรือครบความยาวของวิดีโอของเรา ดังนั้นถ้าลูกค้ากดข้ามวิดีโอเราหลัง 5 วินาที เราจะไม่ถูกเก็บเงิน
- โฆษณาในสตรีม (แบบกดข้ามไม่ได้): ความยาววิดีโอ 15 วินาทีหรือสั้นกว่า จ่ายเงินตามการแสดงผล
- โฆษณาวิดีโอในฟีด (ชื่อเดิม Video Discovery): โฆษณาจะแสดงตอนค้นหาใน YouTube โดยจะแสดงภาพปกวิดีโอ พร้อมข้อความบรรยายเล็กน้อย ตำแหน่งจะอยู่ถัดกับวิดีโอที่เกี่ยวข้อง ระบบจะเก็บเงินทุกครั้งที่มีการคลิกดูโฆษณา
- โฆษณาบัมเปอร์ (Bumper Ads): วิดีโอสั้นความยาว 6 วินาที (หรือสั้นกว่า) ผู้ชมไม่สามารถกดข้ามโฆษณาได้ ใช้ย้ำ call to action จ่ายเงินตามการแสดงผล
- โฆษณานอกสตรีม: เป็นโฆษณาในรูปแบบของแบนเนอร์ที่แสดงเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่และปรากฏบนเว็บไซต์และแอปฯ พาร์ทเนอร์ของ Google เท่านั้น ไม่ได้บน YouTube
- โฆษณา Masthead: แสดงด้านบนสุดของฟีดบนหน้าแรกของ YouTube เล่นวิดีโออัตโนมัติโดยไม่มีเสียงนานถึง 30 วินาที ใช้เมื่อต้องการเพิ่มการรับรู้สำหรับสินค้าหรือบริการใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากอยู่ในหน้า Homepage ของ YouTube ที่มีผู้เข้าชมหลักหลายล้านวิวต่อวัน
เหมาะสำหรับใคร? การโฆษณาแบบวิดีโอตอบโจทย์เมื่อธุรกิจต้องการเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น ใช้เปิดตัวสินค้าใหม่ แจ้งโปรโมชัน และทำให้ลูกค้าอยากรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น โฆษณาทาง YouTube นั้นควรใช้ควบคู่กับโฆษณาประเภท Search หรือ Shopping เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมักจะใช้งานรวมถึงหาข้อมูลในหลายแพลตฟอร์มก่อนตัดสินใจ
4. Shopping Campaign
Google Ads ประเภทต่อไปต้องถูกใจเจ้าของร้านค้าออนไลน์แน่นอน เพราะจะเป็นโฆษณาที่ช่วยแสดงสินค้า เมื่อมีการค้นหาที่เกี่ยวข้อง โดยจะแสดงรูปสินค้า ชื่อสินค้า ราคา พร้อมส่วนลด ในผลการค้นหา และ Google Shopping List ซึ่งจะต้องมีการอัปโหลดรายละเอียดสินค้าใน Google Merchant Center แล้วทำการลิงก์เข้ากับบัญชี Google Ads แล้วค่อยสร้างแคมเปญขึ้นมา เราจะเสียเงินก็ต่อเมื่อมีการคลิกผ่านไปยังเว็บไซต์
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการโปรโมตสินค้าในร้านค้าของตัวเอง เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยมีข้อแม้ว่าเว็บไซต์ของคุณต้องซื้อขายออนไลน์ได้เสียก่อน ถึงจะทำโฆษณาในลักษณะนี้ได้
5. App Install
สำหรับธุรกิจที่พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้าหากไม่มีคนรู้จักหรือดาวน์โหลดเลย ดังนั้น Google Ads แบบ App Campaign จะเป็นการโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจแอปฯ ช่วยหาผู้ใช้และเพิ่มยอดดาวน์โหลดของแอปพลิเคชันทั้ง iOS หรือ Android โดยจะโฆษณาผ่านทางการค้นหาทาง Google Search, Google Play, YouTube และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มยอดผู้ใช้งานแอปฯ ยอดดาวน์โหลด หรือยอดซื้อผ่านแอปพลิเคชันของตนเอง หากคุณเปิดตัวแอปใหม่ นี่เป็นอีกทางเลือกที่จะสามารถเพิ่มยอดดาวน์โหลดและใช้งานได้อย่างแน่นอน
6. Local Campaign
สำหรับใครที่อยากให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก และให้คนเข้าร้านเยอะ ๆ ต้องนี่ Local Campaign ที่จะเป็นการโปรโมตสถานที่ของธุรกิจของคุณให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผ่านการแสดงโฆษณาบนผลการค้นหา แผนที่ YouTube และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการเพิ่มยอดขายที่หน้าร้าน และต้องการให้คนเข้าเยี่ยมหน้าร้านให้เยอะขึ้น โดยจำเป็นต้องเชื่อม Google Ads กับ Google My Business ของคุณเสียก่อน จึงจะสามารถทำแคมเปญประเภทนี้ได้
7. Smart Campaign
ถ้าไม่รู้ว่าต้องตั้งกลุ่มเป้าหมายอย่างไร Google Ads แบบ Smart Campaign สามารถช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้นได้ เพียงแค่กรอกข้อมูลธุรกิจของตัวเองลงไป เลือก Keywords สร้างโฆษณาที่ต้องการใช้ กำหนดงบประมาณ แล้วปล่อยให้ที่เหลือเป็นหน้าที่ของ Google Machine Learning ในการเลือกแสดงโฆษณาอัตโนมัติทั้งใน Google Search, Google Maps, YouTube, Gmail และเว็บไซต์พันธมิตรของ Google
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะสำหรับมือใหม่หัดใช้ Google Ads การตั้งค่าง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถช่วยเพิ่มยอดขาย และขยายฐานลูกค้าได้ ได้ลูกค้าที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ แต่ด้วยความที่มีการใช้ machine learning ค่อนข้างเยอะ จึงจะสูญเสียการควบคุมและความสามารถในการปรับแต่งอย่างละเอียดไป
8. Performance Max Campaign
ไม่อยากตั้งค่าเยอะ ต้องใช้ Google Ads แบบ Performance Max Campaign ที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจยิงโฆษณาได้ในทุกพื้นที่โฆษณาของ Google Ads เช่น YouTube, Display, Search, Discovery, Gmail และ Maps จากการสร้างโฆษณาเพียงชิ้นเดียว โดยจะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของโฆษณาดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของธุรกิจ ถูกออกแบบมาให้ใช้เสริม Google Search Campaign โดยอิงตาม Keyword ที่กำหนด
เหมาะสำหรับใคร? คนที่ต้องการประหยัดเวลาในการตั้งค่าโฆษณา เข้าถึงทุกช่องทางของ Google เน้นเพิ่มจำนวน Conversion สร้างรายได้ให้กับธุรกิจของตัวเอง โดยโฆษณารูปแบบ Performance Max นี้จะมาแทนที่ Display และ Shopping Campaign ในอนาคตอันใกล้
จบกันไปแล้วกับตัวอย่างโฆษณา Google Ads หลาย ๆ รูปแบบ การเลือกโฆษณาให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจและงบประมาณถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจบรรลุวัตถุประสงค์ได้เร็วขึ้น ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้อีกด้วย หลังจากอ่านบทความนี้ หวังว่าทุกคนจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Google Ads ที่มากขึ้น และสามารถเลือกประเภทของโฆษณาให้เหมาะกับธุรกิจและวัตถุประสงค์ของตัวเองได้นะครับ
หากใครยังไม่แน่ใจ หรือต้องการความช่วยเหลือในการยิงโฆษณาผ่าน Google Ads และต้องการวัดผล Conversion ได้อย่างชัดเจนซึ่งทีมงานอาจไม่สามารถทำเองได้ Convert Digital พร้อมให้คำปรึกษาและวางระบบให้คุณ รวมถึงลงมือทำการตลาดออนไลน์แบบครอบคลุมและครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น SEO โซเชียลมีเดีย การซื้อโฆษณาออนไลน์ งานครีเอทีฟที่เป็นภาพและวิดีโอ การสร้างแบรนด์ ฯลฯ มีผลงานที่ชัดเจนในหลายอุตสาหกรรมให้คุณได้ลองพิจารณาครับ